; คู่มือผู้ป่วยและญาติ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อดื้อยา -โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ McCormick Hospital ChiangMai

คู่มือผู้ป่วยและญาติ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อดื้อยา

 
     
เชื้อดื้อยา  คือ เชื้อที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะหลายขนานและดื้อต่อยาปฏิชีวนะตัวสุดท้ายหรือเกือบสุดท้ายที่จะรักษาผู้ป่วยได้ ดังนั้นจึงต้องใช้ยาที่มีราคาแพงหรือไม่มียาที่จะฆ่าเชื้อเหล่านี้ได้



เชื้อดื้อยาอันตรายหรือไม่

        ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงมักจะไม่เกิดอันตรายจากเชื้อดื้อยา แต่ผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ ผู้ป่วยหนัก อาจจะมีการติดเชื้อที่รุนแรงจนเสียชีวิตได้


ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อดื้อยา

        - ผู้ป่วยที่เคยรับการรักษาในหอผู้ป่วยที่มีผู้ป่วยเชื้อดื้อยา
        - ผู้ป่วยอาการหนักที่เข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยหนัก
        - ผู้ป่วยที่ได้รับยาปฏิชีวนะหลายชนิด หรือได้รับยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน
        - ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดใหญ่
        - ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ



การแพร่กระจายของเชื้อดื้อยา

        - เชื้อมีปริมาณมากในอุจจาระ ปัสสาวะ และผิวหนังบริเวณรอบทวารหนักของผู้ป่วย
        - ถ้าไม่ล้างมือให้สะอาดอย่างถูกวิธี เชื้อดื้อยาจะแพร่กระจายจากการสัมผัสผู้อื่นโดยตรง หรือผ่านการจับต้องสิ่งของเครื่องใช้อื่นๆ
        - ผู้ป่วยต้องล้างมือทุกครั้งด้วยน้ำสบู่ หลังถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ
        - ญาติและบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย ถ้ามือไม่เปื้อนอุจจาระ ปัสสาวะ ของเหลวจากแผล ให้ล้างมือด้วยน้ำสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลถูมือก็ได้


แนวทางของโรงพยาบาลสำหรับดูแลผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยา
      
        - ให้ผู้ป่วยอยู่ในบริเวณที่จัดให้โดยเฉพาะหรือห้องแยก ติดป้ายสัญลักษณ์ Strict Contact Precautions ที่ประตูหรือเตียง เพื่อเตือนให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันการติดเชื้ออย่างเคร่งครัด

        - ผู้ป่วยควรจะอยู่แต่ในห้องแยก ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หลังการใช้ห้องน้ำ หลังการไอหรือจาม และหลังจากสัมผัสสารคัดหลั่งที่ออกมาจากร่างกาย ถ้าจำเป็นต้องไปตรวจรักษาในสถานที่อื่นๆ ในโรงพยาบาลหรือออกจากห้องแยก ผู้ป่วยจะต้องล้างมือ ปิดปากปิดจมูกและล้างมือทุกครั้งหลังไอจาม

        - แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลทุกคนต้องสวมเสื้อคลุมและถุงมือเมื่อให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไปสู่ผู้ป่วยรายอื่นๆ

        - แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลทุกคนต้องล้างมือหรือทำความสะอาดมือด้วยแอลกอฮอล์เจลก่อนและหลังจากให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วย

        - ผู้ที่มาเยี่ยมต้องสวมเสื้อคลุมและถุงมือ ไม่ควรสัมผัสผู้ป่วยหรือสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วย และต้องล้างมือก่อนออกจากห้องทุกครั้ง

        - ญาติที่ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยา ห้ามช่วยเหลือหรือดูแลผู้ป่วยรายอื่น 

 


คำแนะนำเมื่อผู้ป่วยกลับบ้าน

        - โดยทั่วไปเชื้อดื้อยาจะแพร่กระจายได้น้อยเมื่ออยู่นอกสถานพยาบาล

        - สมาชิกในครอบครัวที่มีสุขภาพแข็งแรงมักจะไม่ค่อยได้รับเชื้อดื้อยา แต่เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือสมาชิกที่มีอาการป่วย สุขภาพไม่แข็งแรง ไม่ควรใกล้ชิดหรือคลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีเชื้อดื้อยา

        - ผู้ป่วยและสมาชิกครอบครัวทุกคน ต้องล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ โดยเฉพาะหลังออกจากห้องน้ำ และก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง สำหรับสมาชิกคนอื่นต้องล้างมือก่อนและหลังสัมผัสตัวผู้ป่วยด้วย

        - ไม่ควรใช้เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม จาน ช้อน ส้อม แก้วน้ำร่วมกับผู้ป่วย แต่สามารถซักล้างทำความสะอาดร่วมกันได้ตามปกติ

        - ถ้ามาตรวจที่โรงพยาบาลตามนัด หรือกรณีฉุกเฉิน ผู้ป่วยหรือญาติต้องแจ้งแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ว่าผู้ป่วยมีเชื้อดื้อยา


เมื่อไหร่ที่ผู้ป่วยไม่ต้องป้องกันการแพร่กระจายเชื้อดื้อยา

        - เมื่อเวลาผ่านไป เชื้อแบคทีเรียอื่นๆ ในลำไส้ของผู้ป่วยอาจเติบโตทดแทนเชื้อดื้อยาได้

        - ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจอุจจาระซ้ำ เพื่อยืนยันว่ายังมีเชื้อดื้อยาอยู่อีกหรือไม่

        - ผู้ป่วยได้รับการดูแล เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อดื้อยาไปจนกว่าผลตรวจอุจจาระไม่พบเชื้อดื้อยาอย่างน้อย 3 ครั้งต่อเนื่องกัน ทั้งนี้ระยะเวลาเฝ้าระวังประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี